วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปรับแต่งธุรกิจร้านและสถาบันสักคิ้ว ให้เติบโตก้าวไกลด้วย Business Model Canvas

          ก่อนเราจะเดินทางออกไปเที่ยว เรายังต้องวางแผนเลยว่าแต่ละช่วงเวลาของวันจะไปเที่ยวที่ไหน กินข้าวที่ไหน เดินทางอย่างไร ฯลฯ เพื่อการประหยัดเวลา สะดวก และกอบโกยความสุขจากการเดินทางได้ดังใจที่คาดหวัง การดำเนินธุรกิจก็เช่นกันค่ะ จะทำไปวันๆ แล้วแต่ชะตาอำนวยคงเป็นไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่มีทางที่จะออกมาดี ดังนั้น การวางแผนความสำเร็จให้กับธุรกิจนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก หลายคนอาจจะนึกค้านในใจว่า แหม...ธุรกิจฉันเล็กนิดเดียวเองนะ จะต้องถึงขั้นวางแผนให้มันยุ่งยากขนาดนั้นเชียวหรือ? คำตอบคือใช่ค่ะ...ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ หากต้องการให้การเดินทางบนถนนสายธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีไม่ต้องล้มลุกคลุกคลาน ก็จะต้องมีการวางแผนงานให้ครบทุกมิติ ซึ่ง Model ที่เราสร้างขึ้นมานั้นจะเปรียบเสมือนเป็นลายแทงมหาสมบัติ นำพาเราไปสู่เป้าหมายได้ง่ายกว่าการไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างนะคะ

        ทีนี้เรามาศึกษาเจ้าตัว Business Model Canvas กัน ก่อนอื่นต้องแนะนำก่อนว่า Business Model Canvas เป็นวิธีคิดที่ถูกพัฒนามาจากคุณ Alex Osterwalder ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และถูกนำไปใช้กันทั่วโลกทั้งในธุรกิจเล็กและธุรกิจใหญ่ โดยคุณสมบัติของ Business Model Canvas ก็คือ การเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เห็นทุกแง่มุมของธุรกิจนั้นๆ ทำให้มองเห็นข้อดี ข้อเสีย โอกาส อุปสรรค ฯลฯ อันจะไปนำไปสู่แนวทางในการรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และเชื่อไหมว่า หากคุณระดมความคิดใส่ลงไปในแผนผังนี้ ร้านสักคิ้วเล็กๆ ของคุณ อาจกลายเป็นยักษ์ตัวฉกาจ ที่ทำให้ธุรกิจตัวใหญ่กว่าคุณหันมามองด้วยความทึ่งก็ได้นะคะ



          เอาล่ะค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มสร้าง Business Model Canvas ของเรากันเลย (แนะนำว่าให้อ่านให้เสร็จทีละข้อแล้วค่อยกรอกลงไปในแผนผัง ก่อนที่จะเริ่มอ่านและกรอกในข้อต่อๆ ไปนะคะ เพราะอะไรที่เรานึกได้เดี๋ยวนั้นแล้วกรอกเลย จะได้ไม่ตกหล่นค่ะ) โดยโครงสร้างของ Business Model Canvas จะแบ่งการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ออกเป็น 9 กล่อง ซึ่งทั้ง 9 กล่องนี้มีความเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นให้เราลองวิเคราะห์ธุรกิจตัวเอง และกรอกข้อมูลลงไปในแต่ละช่อง ตามรายละเอียดดังไปนี้นะคะ (สำหรับท่านที่เคยเข้าอบรมกับอาจารย์เกียรติรัตน์ สามารถเปิดชีสดูประกอบไปได้เลยค่ะ)

1. Value Propositions : คุณค่าอะไรที่เราส่งมอบให้ลูกค้า เช่น หากเป็นร้านสักคิ้ว คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของประโยชน์ใช้สอยก็คือ ใบหน้าลูกค้าดูดีขึ้น ลูกค้าสามารถประหยัดเวลาการแต่งหน้าได้มากขึ้น ฯลฯ และคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของทางจิตใจคือ ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น หรือลูกค้ามีความเชื่อมั่นในเรื่องโชค (กรณีทำคิ้วโหงวเฮ้ง) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ร้านสักคิ้วหลายๆ ร้านในปัจจุบันไม่ได้ทำแค่งานสัก แต่ยังแยกย่อยออกเป็นบริการอื่นๆ อีก เช่น  เพ้นท์คิ้วชั่วคราว ต่อขนตา ทำเมโสหน้าใส นวดหน้า สปาผิว ลบคิ้ว ทำเล็บ งานสอนสักคิ้ว บางร้านพ่วงด้วยการขายสินค้าอีก เหล่านี้ก็ต้องลิสต์มาว่าในร้านเราทำอะไรบ้าง และส่งคุณค่าอะไรไปสู่ลูกค้าบ้างในแต่ละบริการนั้นๆ

2. Customer Segments : ลูกค้าเราเป็นใครกันแน่ ลองทำสถิติดูค่ะว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณเป็นคนในวัยใด ทำอาชีพอะไร รายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ มีรสนิยมแบบไหน เช่น ร้านเอ้อยู่ใน จ.อยุธยา เป็นร้าน Stand Alone ตั้งอยู่ริมถนน ใกล้ๆ กับตลาด ลูกค้าส่วนใหญ่ของเอ้เป็นคนวัยทำงานค่ะ ส่วนใหญ่เป็นแม่ค้าแม่ขายในละแวกนั้น และอีกกลุ่มหนึ่งคือเป็นสาวโรงงาน เพราะหลายๆ โรงงานไม่อนุญาตให้พนักงานแต่งหน้า การสักคิ้วจึงเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าจะตอบกว้างๆ ก็คือ ลูกค้าของเอ้เป็นวัยประมาณ 25-60 ปี อาชีพนักงานประจำระดับกลางๆ หรือไม่ก็แม่ค้า รายได้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 15,000-20,000 บาท รสนิยมคือเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ประหยัด ต้องการความคุ้มค่า ไม่ใส่ใจเทรนด์แฟชั่นมากนัก ถ้าให้จัดลำดับ ก็น่าจะเป็นคนกลุ่มกลางลงล่างค่ะ

3. Customer Relationships : สร้างสายสัมพันธ์มัดใจลูกค้า อย่างที่เราทราบกันดีว่าร้านสักคิ้วส่วนใหญ่ ไม่ได้มีบริการเพียงแค่ 1 หรือ 2 อย่าง แต่พูดกันง่ายๆ คือ ทุกตารางเซนติเมตรบนใบหน้าคน เราสามารถทำเงินได้หมด อย่างบางคนสักคิ้วกับเราไปแล้ว เราอาจจะพูดไปถึงว่าทำไมไม่ลองสักปากดูบ้างคะ ที่โรงงานไม่อนุญาตให้แต่งหน้าก็ทาลิปสติกไม่ได้สิ อย่างนี้ถ้ามีแต่คิ้วแล้วปากซีดๆ คล้ำๆ แบบนี้มันก็ยังสวยไม่ครบเซ็ทนะคะ ทางเรามีบัตรกำนัลนะ สักคิ้วไปแล้วมาสักปากได้ส่วนลด 500 บาท สนใจมั้ย อะไรก็ว่าไป ดังนั้นในเรื่องของการสร้างสายสัมพันธ์มัดใจลูกค้าของเอ้ก็คือ การมอบบัตรส่วนลดให้ลูกค้าเก่าเพื่อเป็นการจูงใจให้เขามาลองใช้บริการอื่นๆ ในร้าน หรือแม้กระทั่งการมอบค่าตอบแทนให้เขาเมื่อแนะนำลูกค้าคนใหม่ๆ มาให้ (ร้านเอ้แม่ค้ามาใช้บริการเยอะ การชักชวนกันมาทำจึงเกิดขึ้นเยอะมาก และการให้ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ก็ใช้ได้ผลเสียด้วย) หรือแม้กระทั่งระบบการจองคิว หากมีการจองคิวเข้ามาทำในช่วงวันสำคัญ เช่น วันแม่ วันวาเลนไทน์ วันแรงงาน ฯลฯ (เทศกาลบ้านเราเยอะจะตาย ^ ^) เราก็อาจจะเพิ่มเติมให้ลูกค้าในเรื่องของขวัญเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ

4. Channels : ช่องทางนำสินค้าหรือบริการไปให้ถึงมือลูกค้า ข้อนี้ก็มาดูกันค่ะว่า การให้บริการของเรามีลักษณะแบบไหนบ้าง เป็นร้านที่ตั้งแบบ Stand Alone, เป็นร้านในศูนย์การค้า, เป็นร้านในตลาดนัด หรือเป็นลักษณะของการบริการ Delivery ไม่มีหน้าร้าน อย่างนี้เป็นต้นนะคะ ดังนั้นหากคนที่มีร้านอยู่แล้ว ช่องทางที่ลูกค้าจะเจอเราก็จะมีทั้งคนทีสัญจรไปมาผ่านหน้าร้านและมองเห็น หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ (ผ่านสื่อไหนบ้างก็ลิสต์ลงไปให้หมดไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี Line@ หรือเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ต่างๆ) และอีกช่องทางหนึ่งที่เอ้เลือกใช้คือ ตัวแทนค่ะ (เอ้เรียกอย่างนั้นนะ) อย่างที่บอกไปว่า หากเป็นกลุ่มสาวโรงงาน เอ้ก็จะมองหาคนที่จะเป็นตัวแทนเลย คือเขาเคยมาใช้บริการและไปหาลูกค้าในโรงงานของเขาให้เราต่อ ซึ่งช่องทางนี้ก็ถือว่าเป็นฟีดแบกที่โอเคเลยสำหรับร้านเอ้ค่ะ

5. Revenue Streams : รูปแบบที่มาของรายได้ ตรงนี้จะเชื่อมโยงกับข้อ 1 นะคะ นั่นคือ มาดูว่ารายได้ของร้านเรา มาจากบริการหลักอะไรบ้าง อย่างเช่น รายได้จากการบริการงานสัก รายได้จากบริการงานทรีทเมนท์หน้าใส รายได้จากงานต่อขนตา รายได้จากงานทำเล็บ หรือรายได้จากงานสอน ลิสต์มาเลยค่ะว่ารายรับของเรามาจากทางไหนบ้าง

6. Key Partners : พันธมิตรทางธุรกิจ ข้อนี้เราก็มาวิเคราะห์ถึงบุคคลที่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ลองนั่งนึกเลยค่ะว่า ร้านเราต้องทำการเจรจาพูดคุยกับใครบ้าง เริ่มตั้งแต่เฮียที่เป็นเจ้่าของตึกที่เราเช่าอยู่ บริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ (เราซื้อเจ้าไหนบ้างก็ลิสต์ชื่อออกมาเลย) เราทำเว็บหรือโปรโมทแฟนเพจหรือเปล่า ถ้าทำเราดีลงานกับบริษัทใด หรือบางท่านที่มีบริการเดลิเวอรี่ ท่านไปทำที่ไหน ติดต่อกับใคร หรือร้านของเราได้มีการไปออกบูธที่ไหนบ้างไหม ประสานกับใคร ลองนึกๆ ดูนะคะว่าเรามีการประสานงานธุรกิจกับใครบ้าง

7. Key Activities : กิจกรรมหลัก ตรงนี้ก็เชื่อมโยงกับข้อ 1 และข้อ 5 เช่นเดียวกัน โดยให้เราทบทวนตัวเองนิดนึงค่ะว่างานหลักของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง อย่างของบางท่านอาจจะมีทั้งงานสอน งานให้บริการสักที่ร้าน งานให้บริการสักนอกสถานที่ งานให้บริการแก้คิ้วลบคิ้ว งานจัดจำหน่ายสินค้า ฯลฯ เรียกว่าในร้านเรามีอะไรบ้าง ลิสต์ไล่ลำดับตั้งแต่สำคัญที่สุดจนถึงลำดับที่สำคัญรองๆ ลงไปให้ครบเลยนะคะ

8. Key Resources : ทรัพยากรที่ต้องใช้ ในที่นี้คือครอบคลุมหมดเลยทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรข้าวของเครื่องใช้ แล้วร้านเราล่ะคะใช้อะไรบ้าง มีการกู้เงินมาลงทุนไหม มีพนักงานรึเปล่า หรือการจ้างงานอะไรกับบริษัทอื่นๆ ไหม และอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้หลักในร้านมีกลุ่มไหนบ้าง

9. Cost Structure : โครงสร้างต้นทุน จากข้อ 8 ที่เราได้กรอกข้อมูลไป คราวนี้มาถึงเรื่องการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแล้วล่ะค่ะว่าแต่ละเดือน แต่ละวันเราจับจ่ายไปกับต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างโปรโมทเว็บ ค่าอุปกรณ์ ค่าคอมมิชชั่นตัวแทน ค่าเรียนคอร์สพิเศษ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ


ปริ้นท์ใหญ่ๆ ใส่กระดาษ A3,  A4 แล้วกรอกสิ่งที่เป็นตัวตนของธุรกิจคุณลงไปได้เลย


ทีนี้ก็จบแล้วค่ะการวางแผนผัง Business Model Canvas ลองนึก ลองเขียน ลองทำดู เราอาจจะเริ่มมองเห็นอะไรๆ ที่เคยละเลยไป เริ่มมีไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ แทรกเข้ามา แต่ที่แน่นอนคือ เราจะมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร กำลังขายสินค้าหรือบริการกับใคร เราทำอย่างไร และคุ้มค่าหรือไม่ แล้วเดี๋ยวในบทความต่อๆ ไป เราจะลองกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางลงในกล่องทั้ง 9 กล่องนี้ แล้วทุกท่านจะมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจได้อีกเยอะเลยล่ะค่ะ