วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาวางกลยุทธ์ให้ร้านสักคิ้วของคุณกันเถอะ (ตอน 3/3)

          


   มาถึงโค้งสุดท้ายของการวางแผนธุรกิจด้วย Business Model Canvaz แล้วนะคะ กับ 3 หัวข้อสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ้านสักคิ้วทุกท่านจะละเลยผ่านไปไม่ได้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เราไปดูกันเลยค่ะ

          7. Key Activities : กิจกรรมหลัก  เป็นการลงรายละเอียดสำหรับกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในธุรกิจของเรา กล่าวง่ายๆ คือ ดูว่าเราทำงานหลักอะไรบ้าง (อะไรที่เป็นกิจกรรมเสริม อันนำไปสู่รายได้เสริม ไม่เกี่ยวนะคะ) แน่นอนว่าธุรกิจของเราย่อมประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งในแต่ละกิจกรรมจะมีการใช้เวลาและทรัพยากร มากน้อยแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงต้องมาพิจารณาว่าในแต่ละกิจกรรมนั้นๆ ใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ทรัพยากรอะไร มีขั้นตอนอย่างไร มีวิธีจะลดต้นทุนในแต่ละขั้นตอนได้อย่างไร กิจกรรมที่ว่านั้นเกิดปัญหาหรือไม่ และจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร เมื่อได้รายละเอียดแล้วเราก็มาทำการสรุปว่ากิจกรรมใดบ้างที่ทำแล้วคุ้มค่า และถ้าเราให้เกิดประโยชน์มากขึ้นไปอีกเราจะทำการส่งเสริมกิจกรรมนั้นอย่างไร หรือกิจกรรมใดที่ไม่คุ้มค่า เราควรจะทำต่อหรือไม่ ถ้าทำต่อต้องแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น
          ตัวอย่าง เอ้เปิดร้านโดยทำงานเพียงคนเดียว ไม่มีพนักงาน โดยแต่เดิมร้านของเอ้มีกิจกรรมอันแบ่งเป็นหมวดหลักๆ ได้ 3 กิจกรรม ได้แก่ งานให้บริการลูกค้าเรื่องการสัก/ทำทรีทเมนท์/แว็กซ์ขน, งานให้บริการลูกค้าเรื่องการแก้คิ้ว, และงานให้บริการลูกค้าเรื่องการสอน ซึ่งต่อมาเอ้ได้พบว่า งานสอน เป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรแรงงาน (ตัวเรา) และทรัพยากรเวลา มากที่สุดในบรรดากิจกรรมทั้งหมด มองง่ายๆ คือวันไหนที่เปิดสอน เอ้จะต้องงดรับลูกค้าทั้งหมด เพื่ออุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่า ทำให้เอ้มองเห็นถึงค่าเสียโอกาสในการรับบริการลูกค้า ต่อมาเอ้จึงยกเลิกกิจกรรมการสอนไป และหันมาเน้นการทำตลาดในเรื่องของการบริการแทนค่ะ

     ประเด็นต่อมา ในร้านของเคยมีบริการรับแก้คิ้ว ซึ่งบริการนี้ยากกว่าการสักคิ้วปกติมาก เพราะแต่ละเคสที่เข้ามาใช้บริการมีปัญหาเดิมที่แตกต่างกัน ดังนั้นทำให้เราใช้ทรัพยากรในแต่ละเคสแตกต่างกันด้วย เช่น ลูกค้าบางท่านอาจจะใช้เวลาในการแก้คิ้วเพียงครั้งเดียว ลูกค้าบางท่านต้องแก้ถึง 3-4 ครั้ง และเราเองไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดกับลูกค้าได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ อีกประการหนึ่งก็คือ ลูกค้ามักมีความกังวลเพราะกลัวว่ายิ่งแก้จะยิ่งเพิ่มปัญหา ทั้งยังจะเสียเงินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด กิจกรรมนี้จึงทำให้เอ้ใช้ทั้งทรัพยากรแรงงาน ทรัพยากรเวลา และทรัพยากรความคิด (เอ้เป็นคนคิดมาก) เรียกว่าแก้คิ้วทีก็จิตตก เพราะกังวลว่าจะทำให้ปัญหาของลูกค้าหมดไปไม่ได้ เมื่อมองถึงความความคุ้มค่า เอ้จึงมองว่างานแก้คิ้วไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากพอ จึงได้ทำการยกเลิกกิจกรรมการแก้คิ้วไป และหันมาเน้นการทำตลาดในเรื่องของบริการแทนเช่นเดียวกัน

     สรุป เมื่อเอ้ได้ทำการยกเลิกกิจกรรมการสอนและกิจกรรมการรับแก้คิ้วไป ทำให้รายได้ส่วนที่เอ้ควรจะได้จากทั้ง 2 กิจกรรมนี้ขาดหายไป อย่างไรก็ตามเมื่อเอ้เลือกแล้วว่าจะเน้นกิจกรรมหลักเพียงแค่การให้บริการเท่านั้น เอ้จึงเพิ่มกิจกรรมใหม่เข้ามาเพื่อส่งเสริมกัน ได้แก่ กิจกรรมการทำตลาด โดยเอ้ใช้เวลาศึกษาเรื่องการทำตลาดมากขึ้น ทั้งการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และงานสัมมนา จากนั้นนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้กิจกรรมหลักที่เหลือเพียงกิจกรรมเดียวของเอ้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น และนำมาสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เอ้ยังมีแผนที่จะเพิ่มกิจกรรมหลักขึ้นมาอีก โดยการดึงกิจกรรมที่เคยพับไป อย่างงานสอน หรืองานแก้คิ้ว กลับมาทำใหม่ แต่เอ้จำเป็นจะต้องเพิ่มทรัพยกรแรงงานเข้ามาอีก โดยการจ้างช่างสักคิ้วเพิ่ม 1-2 คน เพื่อรองรับกับกิจกรรมบริการที่มีอยู่เดิม ส่วนตัวเอ้เองก็จะไปทำกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมานั่นคืองานสอน และงานแก้คิ้ว เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับธุรกิจ โดยพิจารณาแล้วว่าการแรงงานเพิ่มขึ้นมารองรับกิจกรรมหลักที่จะทำ มีความคุ้มค่ากว่าค่ะ


     8. Key Resources : ทรัพยากรที่ต้องใช้ ทรัพยากรเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการทำธุรกิจ โดยทรัพยากรที่ว่านี้ จะหมายรวมถึง ข้าวของเครื่องใช้ เงินทุน แรงงาน ฯลฯ หลักการง่ายๆ ที่เราใช้จำแนกสิ่งที่ควรเขียนลงไป คือ มีอะไรบ้างในธุรกิจของเราที่จำเป็นต้องมีอยู่ ทรัพยากรใดยังคงไว้แต่ต้องได้รับการพัฒนา และทรัพยากรใดไม่จำเป็น และควรตัดออกไป

          ตัวอย่าง อย่างที่บอกไปในข้อ 7 ค่ะ แต่เดิมร้านเอ้มีงานรับสอนด้วย จึงมีทรัพยากรเครื่องใช้เป็นโต๊ะ เก้าอี้ กระดานไวท์บอร์ด และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานสอน เมื่อเอ้ตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมการสอนไป จึงยกเลิกการใช้ทรัพยากรดังกล่าวไปด้วย และเปลี่ยนจากตรงนั้นมาเพิ่มเป็นโซฟาชุดรับแขกสำหรับลูกค้าแทน และเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งก็คือโทรทัศน์และสัญญานไวไฟ เพื่อเสริมความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่มานั่งรอ ซึ่งการปรับเปลี่ยนทรัพยากรดังที่กล่าวไปนั้นกลับยิ่งทำให้ร้านดูน่านั่ง น่าเข้ามาใช้บริการมากกว่าเดิมค่ะ
          
          อีกเรื่องหนึ่งในการปรับเปลี่ยนคือ ร้านเอ้มีบริการแบบเดลิเวอรี่ด้วย โดยแรกเริ่มนั้น เอ้ใช้เก้าอี้นอนในลักษณะของเก้าอี้ชายหาดไปให้บริการลูกค้า ต่อมาเอ้อยากปรับให้ร้านเราดูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เอ้จึงเปลี่ยนจากเก้าอี้ชายหาด มาเป็นเตียงพับ (ลักษณะเหมือนเตียงนอนทำสปา) และแม้ว่าการปรับเปลี่ยนทรัพยากรนี้จะทำให้เอ้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่เอ้ก็แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มราคาค่าบริการขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งเมื่อลูกค้าได้เห็นความเป็นมืออาชีพตั้งแต่เตียงที่เราใช้ จึงไม่มีปัญหาในข้อสงสัยเรื่องราคาที่เพิ่มขึ้นค่ะ

           อีกข้อหนึ่งที่เอ้เห็นว่าสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือก่อนหน้าที่เอ้จะมาจริงจังเรื่องการทำตลาด เอ้โปรโมทธุรกิจด้วยการจ้างคนอื่นทำทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบดีไซน์แฟนเพจ การดีไซน์โบชัวร์ ป้ายร้าน การทำโฆษณาในเฟซบุ๊ก (การจ้างให้คนอื่นดูแลให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก) ซึ่งเมื่อรวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการจ้างงานเหล่านี้ใช้ทรัพยากรเงินทุนที่สูงมาก และยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเราได้มากเท่าที่ควร เอ้จึงใช้เวลาพักใหญ่ในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์ (ศึกษาโปรแกรมโฟโต้ช็อป) การโฆษณาสื่อออนไลน์ต่างๆ จนกระทั่งสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง และทำให้พบว่าเมื่อเราทำงานพวกนี้ด้วยตัวเองได้ นอกจากจะดีไซน์งานทุกอย่างได้สวยถูกใจแล้ว ยังประหยัดทรัพยากรเงินทุนมากๆ แม้จะเสียเวลาในแต่ละวันลงไปบ้าง แต่มองถึงความคุ้มค่าแล้วทำเองคุ้มกว่า จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดทรัพยากรเงินทุนและเพิ่มทรัพยากรแรงงาน (ตัวเอง) เข้ามาใช้ในธุรกิจค่ะ

    9. Cost Structure : โครงสร้างต้นทุน เป็นบทสรุปของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นว่า มีจำนวนประมาณเท่าใด จุดใดเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือน้อยอย่างไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะสามารถคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ณ จุดใด ซึ่งกล่องที่ 9 โครงสร้างค่าใช้จ่าย และกล่องที่ 5 กระแสรายได้ จะบ่งบอกถึง สถานะทางการเงินของธุรกิจ ทั้งนี้สามารถจำแนกลักษณะของต้นทุนได้ 2 รูปแบบคือ

          ทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ  เช่น ค่าจ้างแรงงาน (อย่าลืมเงินเดือนตัวเองด้วยนะคะ) ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ ค่าเช่า ค่าน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ
          ทุนเพื่อเพิ่มคุณค่าธุรกิจ เช่น ค่าโฆษณา ค่าเรียนเพิ่มเติมในวิชาชีพ ค่าจ้างฝ่ายออกแบบ ฯลฯ

          ตัวอย่าง เอ้มีค่าใช้จ่ายคงที่แน่ๆ ในแต่ละเดือนครอบคลุม เรื่องของค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน (เงินเดือนตัวเอง) ค่าน้ำมัน ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ฯลฯ รวมแล้วอยู่ประมาณ 30,000 บาท ดังนั้นหากเอ้ต้องการกำไรโดยเฉลี่ยที่เดือนละ 20,000 เอ้ก็ต้องหารายได้เข้าร้านให้ถึง 50,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์กับกล่องที่ 5 โดยตรง นั่นคือ Revenue Streams : รูปแบบที่มาของรายได้  กล่าวคือ ถ้าเดือนไหนได้ไม่ถึงเป้า เอ้ก็จะมาดูข้อนี้แหละค่ะ ว่าเราทำยังไง ทำไมรูปแบบที่มาของรายได้ที่เราตั้งไว้ จึงไม่สามารถตั้งให้ถึงได้ตามเป้า เราก็จะมาปรับแก้ไขในจุดนี้ เช่น เราอาจต้องทำโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า หรือมองหาพันธมิตรเพิ่มเติมในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นมา เป็นต้น

          ในทางกลับกัน หากเอ้สามารถสร้างรายได้จนถึงเป้า และพอเหลือกำไรที่จะนำไปเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจได้ เอ้จะนำกำไรที่ได้เหล่านั้นไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น เรียนเทคนิคใหม่ๆ เพิ่ม (ก็กลับเข้ามาสู่กล่องที่ 5 อีกนั่นแหละค่ะ คือนำความรู้ใหม่ที่ได้มานั้นมาสร้างรายได้เพิ่มเข้าร้าน) ตรงนี้เทคนิคเอ้คือว่ากันเดือนต่อเดือน เช่นเดือนนี้กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายคงที่เหลือ 25,000 และเอ้ตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละเดือนต้องการกำไร 20,000 บาท ดังนั้นเอ้จึงมีส่วนต่างที่สามารถนำไปใช้ได้ 5,000 บาท เอ้ก็เอา 5,000 นี้นี่แหละค่ะไปทำเป็นทุนเพิ่มคุณค่าธุรกิจ หากไม่พอก็ต้องรอส่วนต่างของเดือนถัดไป เป็นเทคนิคที่ทำให้เอ้ยังคงมีกำไรตามเป้า และสามารถขยายไปลงทุนเพื่อคุณค่าธุรกิจโดยไม่ต้องใช้เงินทุนเก่าหรือกู้ยืมใครค่ะ

         เอาล่ะค่ะ จบลงแล้วนะคะสำหรับการกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วย Business Model Canvaz จากตัวอย่างที่เอ้ยกให้ดูนั้น เอ้แจ้งแล้วว่าเป็นเพียงไอเดียของเอ้เองเท่านั้น ส่วนท่านอ่านแล้วคิดเห็นว่าควรทำอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ท่านพบเจอเลยค่ะ ไม่มีใครผิดหรือถูก เพียงแต่โมเดลนี้จะทำให้เรามองเห็นองค์ประกอบในธุรกิจ อันนำไปสู่มุมมองและความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์อย่างมีระบบมากขึ้น อย่างน้อยจะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ต่อการปรับแต่งธุรกิจให้โดดเด่น และเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเอง ร้านสักคิ้วของเราจะได้มีสิ่งดึงดูดแปลกๆ ใหม่ๆ ต่างจากร้านอื่นๆ ค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาวางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจร้านสักคิ้วของคุณกันเถอะ!! (ตอนที่ 2/3)

           ห่างหายไปหลายวัน กลับมาตามคำสัญญาแล้วนะคะ เอาล่ะค่ะ ทีนี้มาต่อกันที่การวางกลยุทธ์ธุรกิจในตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสำคัญ 3 หัวข้อดังต่อไปนี้ค่ะ

          4. Channels : ช่องทางนำสินค้าหรือบริการไปให้ถึงมือลูกค้า  ข้อนี้จะทำให้เราได้คำนึงถึงว่าที่ผ่านมาเราใช้ช่องทางแนะนำตัวเองไปสู่ลูกค้าอย่างไร และสื่อต่างๆ ที่เราเลือกใช้นั้นเพียงพอหรือยัง หากยังไม่พอเราควรเลือกนำสื่อใดมาใช้ประชาสัมพันธ์เพิ่มอีก เพื่อให้การประชาสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด 
          ตัวอย่าง เอ้จะมีหน้าร้านอยู่ในตัวเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา แต่นอกจากการเปิดร้านแล้ว ก็ยังมีการบริการนอกสถานที่ และได้ประชาสัมพันธ์ธุรกิจผ่านสื่ออื่นๆ ที่พอจะทำได้เช่น เฟซบุ๊ก กลุ่มข่าวของจังหวัดอยุธยา และการมองหาตัวแทน (คนที่พาลูกค้ามาให้ที่ร้าน โดยมีค่าตอบแทนให้) ซึ่งเท่าที่ทำมาก็ถือว่ายังไม่สร้างการรับรู้มากเท่าที่ควร จึงมองหากลยุทธ์เพื่อเพิ่ม Channels ใหม่ๆ ดังนี้
          กลยุทธ์ออฟไลน์ (หน้าร้าน)
     - เมื่อมีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้าน จะฝากโบชัวร์กลับไปกับลูกค้าด้วย เพราะเชื่อว่าจะต้องมีคนรอบข้างทักเขาว่าไปทำอะไรที่ไหนมา และหากมีสื่อในมือลูกค้า ก็จะช่วยแนะนำต่อให้เราได้ง่าย
     - มองหาพันธมิตรในละแวกใกล้เคียง เช่น ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย ร้านนวด ฯลฯ เพื่อฝากโบชัวร์หรือนามบัตรวางไว้ที่ร้านเขา
     - ออกบูธ (เลือกเฉพาะที่ราคาค่าบูธถูกมากๆ หรือไม่ก็ฟรี) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารอบนอกได้รู้จักร้าน
     - ทุกครั้งที่มีให้บริการนอกสถานที่ จะติดโบชัวร์ไปด้วยจำนวนหนึ่งเสมอ เพื่อฝากให้ลูกค้าเราแจ้งข่าวต่อ หรือสามารถประชาสัมพันธ์ได้ทันทีเมื่อมีคนละแวกนั้นมาดูที่บ้านลูกค้า
      กลยุทธ์ออนไลน์ 
      - ประชาสัมพันธ์สื่อออนไลน์อื่นๆ นอกเหนือจากที่เคยใช้ เช่น อินสตาแกรม เว็บพันทิป ไลน์ และไลน์@ รวมถึงศึกษาวิธีการสร้างสื่อที่มีประสิทธิภาพ และนำวิธีใหม่มาปรับใช้กับสื่อออนไลน์ทั้งหมด 

          5. Revenue Streams : รูปแบบที่มาของรายได้  สำหรับเรื่องนี้คือ การถามตัวเองว่าเงินสามารถเข้าสู่ธุรกิจของเราได้ทางใดบ้าง ซึ่งการพิจารณารายได้ในแต่ละส่วนที่เข้ามา จะช่วยให้เราสามารถกำหนดทิศทางในการสร้างมูลค่าให้เหมาะสม รวมไปถึงสามารถแยกแยะกิจกรรมที่ดูแล้วไม่น่าจะก่อให้เกิดรายได้ให้เห็นได้เด่นชัดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับร้านสักคิ้วแล้ว รูปแบบการได้มาของรายได้จะไม่ค่อยมีความซับซ้อน นั่นคือ ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการแบบคนต่อคน แต่หากร้านไหนมีรูปแบบรายได้อื่นปนอยู่ด้วย เช่น รายได้จากการสอน รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการแบ่งพื้นที่ให้เช่าหน้าร้าน ฯลฯ ก็ต้องทำการลิสต์ข้อมูลออกมา แล้วพิจารณว่ารายได้เหล่านั้น เหมาะสม คุ้มค่า หรือเป็นประโยชน์หรือไม่ หากพบเจอว่ารายได้ดังกล่าวไม่เด่นชัด หรือไม่ก่อประโยชน์ที่คุ้มค่า ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในแหล่งที่มาของรายได้นั้นเสียใหม่นะคะ ในทีนี้สำหรับตัวเอ้เองไม่ได้มีรายได้อื่นใดนอกจากค่าบริการสักคิ้วโดยตรง จึงไม่มีตัวอย่างในเรื่องการใช้กลยุทธ์สำหรับหัวข้อนี้ค่ะ
         
          6. Key Partners : พันธมิตรทางธุรกิจ  แน่นอนว่าในโลกของการทำธุรกิจ ย่อมมีบางสิ่งที่เราทำเองไม่ได้ หรือต่อให้ทำเองได้ ก็อาจเป็นการเสียเวลาและไม่คุ้มเหนื่อย ดังนั้นการมองหาเครือข่ายพันธมิตรนั้นช่วยเราได้ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เสริมในส่วนที่เราทำไม่ได้ หรือลดความเสี่ยงของธุรกิจ และการมีหุ้นส่วนนั้นช่วยให้เราสามารถเน้นไปที่กิจกรรมหลักสำหรับธุรกิจได้อย่างเต็มที่อีกด้วย 
         อย่างไรก็ตาม พันธมิตรทางธุรกิจสามารถออกได้เป็น 4 กลุ่ม โดยเราอาจพิจารณาว่าขณะนี้เรามีพันธมิตรประเภทใดบ้างอยู่แล้ว และมีประเภทอื่นๆ ที่เราควรออกไปทำความรู้จักเพิ่มหรือไม่
     * พันธมิตรที่ไม่ใช่คู่แข่ง  เช่น ร้านกาแฟ ที่ตั้งใกล้ๆ ร้านเรา
     * พันธมิตรที่เป็นคู่แข่ง คือ ร้านสักคิ้วเหมือนเรา แต่อยู่ในพื้นที่อื่นที่ไกลออกไป 
     * พันธมิตรที่รวมกันแล้วเกิดเป็นธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจทำเล็บที่มีบริการแบบเดลิเวอรี่
     * พันธมิตรแบบต้องพึ่งพากันจึงจะอยู่รอด เช่น ธุรกิจจัดจำหน่ายสีและอุปกรณ์สักคิ้ว
กลยุทธ์ที่นำมาใช้
          - มีการดีลกับร้านกาแฟข้างเคียง ในช่วงที่ร้านจัดโปรโมชั่น เช่น ลูกค้าสักคิ้วรับเครื่องดื่มเย็นฟรี 1 แก้ว ได้ที่ร้านนั้น (โดยตกลงกับทางร้านว่าเราจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นเอง และนำเสนอดูว่า หากร้านเราสั่งกาแฟกับเขาเป็นจำนวนหลายแก้วต่อวัน จะมีส่วนลดพิเศษหรือไม่ รวมถึงบริการเสิร์ฟถึงที่จะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
          - ทำความรู้จักกับร้านสักคิ้วในจังหวัดอื่นๆ เพื่อทำการส่งลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาและเราไม่สามารถไปให้บริการได้ ไปให้ยังร้านพันธมิตรของเรา โดยตกลงแบ่งค่าตอบแทนในการแนะนำตามความเหมาะสม ในที่นี้หมายรวมถึงสถาบันสอนในจังหวัดต่างๆ ด้วย เพราะทางร้านเอ้ไม่ได้มีบริการรับสอนสักคิ้วค่ะ
          - ดีลกับช่างทำเล็บที่สามารถให้บริการนอกสถานที่ได้ เพราะร้านเอ้มีลูกค้าที่ต้องการทำเล็บ แต่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าในส่วนนี้ได้ ดังนั้นจึงมีบริการจัดหาให้ลูกค้าในส่วนนี้ นอกจากลูกค้าจะรู้สึกดีที่เรามีบริการหลากหลายแล้ว เรายังได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ จากช่างทำเล็บด้วยนะคะ
         - รวมกลุ่มช่างสักคิ้วด้วยกัน เพื่อรวบรวมยอดสั่งซื้อในจำนวนมาก สำหรับการต่อรองราคาสินค้ากับธุรกิจที่จัดจำหน่ายสีและอุปกรณ์สักคิ้ว ซึ่งหากเราสั่งซื้อเอง และยอดต่อครั้งน้อย เราก็จะได้ราคาปลีก แต่ถ้าสั่งซื้อกับเพื่อนในจำนวนมาก เราก็ได้ราคาส่ง ซึ่งอาจจะช่วยลดต้นทุนค่าอุปกรณ์ลงไปได้อย่างคุ้มค่าค่ะ

          จบไปอีก 3 หัวข้อแล้วนะคะ สำหรับบทความในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การคิดกลยุทธ์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องดีค่ะ แต่หากกลยุทธ์เหล่านั้นลองนำมาปรับใช้แล้ว ไม่พบว่าเกิดประโยชน์หรือมีความคุ้มค่ามากพอ เราก็อาจจะตัดทิ้งและลองมองหาวิธีอื่นๆ ต่อไป อย่างไรเสีย การได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ย่อมเกิดผลดีในทางธุรกิจมากกว่าอยู่นิ่งๆ อย่างแน่นอนค่ะ สำหรับหัวข้อเรื่องการวางแผนธุรกิจด้วย Business Model Canvaz ยังเหลือเรื่องสำคัญอีก 3 ข้อ แล้วอย่าลืมติดตามอ่านบทความในตอนที่ 3 ได้เร็วๆ นี้นะคะ

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาวางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจร้านสักคิ้วของคุณกันเถอะ!! (ตอนที่ 1/3)

          ในบทความครั้งก่อน (ติดตามอ่านได้จากบทความด้านล่าง ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสที่ 26 พฤศจิกายน 2558 นะคะ) เราได้พูดถึงการสร้างลายแทงมหาสมบัติ ที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมาย ด้วยการทำ Business Model Canvas ซึ่งเป็นการใส่รายละเอียดต่างๆ ตามหัวข้อหลัก 9 หัวข้อ เพื่อให้เราได้มองเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร กำลังขายสินค้าหรือบริการกับใคร เราทำอย่างไร และคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่เราได้ใส่ข้อมูลของธุรกิจลงไปในกล่องทั้ง 9 ช่องนั้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์หาแนวทางแล้วนะคะว่า ในแต่ละกล่องนั้น เราจะวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานอย่างไร และเมื่อเราทำจบแล้ว เราจะได้คำตอบอย่างชัดเจนเลยค่ะว่า สมบัติมูลค่ามหาศาลในธุรกิจของเรานั้นมันวางอยู่ตรงไหนกันแน่


         ทีนี้เราก็นำ Model ที่เราวาดขึ้น มากางดูเลยค่ะ ดูซิว่าครั้งที่แล้วเรากรอกข้อมูลอะไรลงไปบ้าง ในที่นี้เอ้จะขออนุญาตยกตัวอย่างประกอบให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยข้อมูลของร้านเอ้เองนะคะ อย่างไรก็ตามข้อมูลของแต่ละท่านย่อมมีความแตกต่างกันไป จึงไม่มีถูกไม่มีผิดนะคะ ขอให้คิดได้และบรรเลงไอเดียลงไปเลย มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจบริการในร้านของตัวเอง โดยสามารถที่จะระบุจุดเด่นของตนเองได้ เพราะการที่หาตัวตนของธุรกิจไม่เจอนั้น นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจค่ะ ว่าแล้วเรามาเริ่มกันเลยนะคะ เริ่มจาก...

          1. Value Propositions: คุณค่าอะไรที่เราส่งมอบให้ลูกค้า เป้าหมายของกลยุทธ์ที่จะลงข้อมูลในช่องนี้ คือมูลค่าเพิ่มที่ใส่เข้าไปในสินค้าหรือบริการ แล้วทำให้ตำแหน่งของสินค้าและบริการของเรา อยู่ในที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งถ้าธุรกิจของท่านมีทั้งงานบริการ งานสอน และงานขายสินค้า แนะนำให้วางแผนกลยุทธ์แยกกันนะคะ เพราะถ้าเอารวมกันทั้งหมดแล้วมาวิเคราะห์ในแผนเดียว จะทำให้สับสน ไม่สามารถจับประเด็นมาทำกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง
          ตัวอย่าง เนื่องจากบริการในร้านของเอ้ประกอบไปด้วย งานสักคิ้ว/สักปาก งานทำทรีทเมนท์หน้า และงานแว็กซ์กำจัดขน โดยในทุกบริการของทางร้าน ลูกค้าสามารถที่จะทำที่ร้านหรือใช้บริการแบบ Delivery ก็ได้ เอ้จึงได้กำหนดคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าดังนี้ค่ะ
          คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของประโยชน์ใช้สอย
(1) งานสักคิ้ว/สักปาก ทำให้ลูกค้าที่มีปัญหาคิ้วบาง คิ้วรก หรือคิ้วไม่เป็นรูปทรง สามารถสร้างคิ้วใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบทันที ตามสไตล์ที่ลูกค้าชอบ รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาริมฝีปากดำคล้ำ ปากซีด หรือผู้ที่ต้องการทรงปากที่ชัดเจน ก็สามารถใช้บริการเพื่อได้สีและทรงปากที่สมบูรณ์แบบทันทีเช่นเดียวกัน ทั้งยังช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลาในการแต่งหน้าประจำวันอีกด้วย
(2) งานทรีทเมนท์หน้า ทำให้ผู้ที่ปัญหาหน้าหมองคล้ำ มีริ้วรอย มีกระฝ้า สามารถหายหรือบรรเทาปัญหาเหล่านั้นได้
(3) งานแว็กซ์กำจัดขน ช่วยกำจัดขนส่วนเกินในบริเวณแขน ขา ใบหน้า และคิ้ว ให้หมดไปอย่างเห็นได้ชัดเจน
          คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของประโยชน์จิตใจ
(1) งานสักคิ้ว/สักปาก ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น รวมถึงรู้สึกเป็นผู้หญิงที่มีความทันสมัย
(2) งานทรีทเมนท์หน้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีที่ได้ดูแลตัวเอง
(3) งานแว็กซ์ขน ทำให้ลูกค้ารู้สึกสะอาด มั่นใจในการแต่งตัว
(4) ทำให้ลูกค้ามั่นใจ เชื่อใจในความเป็นมืออาชีพ เกิดความรู้สึกประทับใจและผูกพัน

         กลยุทธ์ที่นำมาใช้ 
กลยุทธ์ออฟไลน์ (หน้าร้าน) 
          - เน้นการพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้า โดยเฉพาะงานสักและงานทรีทเมนท์ว่าหากใช้บริการกับทางร้าน จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในแง่มุมใดบ้าง และหากพบว่าลูกค้าท่านนั้นมาพร้อมกับความกังวลในเรื่องใด ก็ให้เน้นย้ำเป็นพิเศษว่า บริการของเราจะช่วยขจัดข้อกังวลเหล่านั้นของลูกค้าลงได้อย่างหมดสิ้น เช่น หากลูกค้ามีปัญหาคิ้วตก ทำให้ดูมีอายุและใบหน้าเศร้าหมอง แต่เป็นคนไม่ชอบแต่งหน้า ก็จะแนะนำว่าให้สักคิ้ว 6 มิติ เพื่อแก้ปัญหาคิ้วตก โดยหลังจากสักเสร็จใบหน้าจะอ่อนเยาว์ขึ้น และคิ้วลายเส้น 6 มิติ จะมีความเป็นธรรมชาติไม่หลอกหน้า เป็นต้น (สร้างความประทับใจด้วยการยิ้มหวานๆ พูดเพราะๆ อธิบายอย่างเต็มใจในทุกคำถาม)
          - เน้นการตกแต่งร้านด้วยการสื่อจากรูปภาพ Before-After เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนว่าก่อนใช้บริการเป็นอย่างไร และหลังจากใช้บริการได้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร อนึ่ง รูปที่ใช้ในการแต่งร้านทุกรูป จะต้องเป็นรูปที่เกิดจากผลงานตัวเอง และจะไม่ใช้โปสเตอร์ภาพคิ้วสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เป็นรูปที่ตัดต่อ ทรงคิ้วไม่เหมาะกับรูปหน้าคนไทย และไม่มีความแตกต่างจากร้านสักคิ้วอื่นๆ
          - ทำให้ลูกค้ามั่นใจในความเป็นมืออาชีพ ด้วยการจัดวางใบประกาศนียบัตรจากสถาบันต่างๆ ในจุดที่โดดเด่น หากมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่นการสัมมนา การแข่งขัน ฯลฯ และมีการจัดมุมเล็กๆ แสดงภาพบรรยากาศกิจกรรมเหล่านั้น จะเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า และทำให้เกิดคำอธิบายต่อภาพลักษณ์ของร้านในมุมที่ต่างจากร้านคู่แข่งได้

กลยุทธ์ออนไลน์
            - ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าในทุกครั้งที่มีการโพสต์ผลงาน และโพสต์ภาพผลงานที่แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนทั้งมุมไกลและมุมใกล้  เช่น หากต้องการอัพผลงานการสักคิ้วของลูกค้าที่มีปัญหาคิ้วตก ก็จะไม่เป็นเพียงการอัพภาพและใส่ข้อความเชิญชวนให้มาใช้บริการเท่านั้น แต่จะมีการอธิบายก่อนสั้นๆ ว่าลูกค้าท่านนี้มีปัญหาคิ้วตก ทำให้เกิดผลเสียอย่างไร และทางร้านได้แก้ไขข้อกังวลของลูกค้าด้วยวิธีการใด ก่อนที่จะจบด้วยการเชิญชวนให้มาใช้บริการที่ร้านหรือใช้บริการแบบเดลิเวอรี่
          - เน้นให้ลูกค้าเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยอาจจะยกเรื่องราวสนุกสนานมาเป็นส่วนประกอบ โดยสร้างคอนเทนท์ให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย และทันสมัย

          2. Customer Segments : ลูกค้าเราเป็นใครกันแน่ ป็นการศึกษาว่า ลูกค้าในหลักของกิจการเรานั้น มีลักษณะสำคัญอย่างไร ความต้องการเป็นอย่างไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร หรือปัญหาที่พบกับลูกค้ากลุ่มนี้คืออะไร ฯลฯ จากนั้นจึงทำการจัดทำกลยุทธ์เพื่อให้ 'ถูกจริต' กับลูกค้าของเรา (หากลูกค้ามีหลากหลาย ก็ให้ทำการวิเคราะห์แยกพฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่มไปเลยนะคะ อย่าเอามารวมกัน)

           ตัวอย่าง ร้านของเอ้กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นวัยทำงาน บางส่วนเป็นแม่ค้า บางส่วนเป็นพนักงานโรงงาน อายุประมาณ 25-60 ปี รายได้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 15,000-20,000 บาท รสนิยมคือเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย และใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า
          กลยุทธ์ที่นำมาใช้ 
กลยุทธ์ออฟไลน์ (หน้าร้าน) 
         - เนื่องจากกลุ่มลูกค้าให้ความสำคัญเรื่องของราคาที่คุ้มค่า ราคาค่าบริการจึงอยู่ในเรทกลางๆ (งานสัก 2,500-3,500 บาท งานทรีทเมนท์และงานแว็กซ์ครั้งละ 200-300 บาท หากเป็นเดลิเวอรี่บวกค่ารถตามระยะยทาง) บริเวณหน้าร้านจึงแสดงราคาค่าบริการและโปรโมชั่นแบบเด่นชัด เน้นการตกแต่งหน้าร้านด้วยสีชมพูฉูดฉาด ซึ่งหากเทียบความสะดุดตากับร้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ร้านเราจะดูสะดุดตาน่าสนใจมากกว่า กระจกหน้าร้านมองเห็นทะลุเข้ามาในร้าน เพื่อจงใจให้ผู้ที่มองจากภายนอกได้เห็นว่ามีลูกค้ารอรับบริการในร้านจำนวนมาก จัดที่นั่งและบรรยากาศในร้านโดยเน้นความเป็นกันเอง กว้างขวางสะดวกสบาย เพราะลูกค้ามักจะมากันเป็นกลุ่ม มี wifi ให้ลูกค้าใช้ฟรี เนื่องจากใช้เวลาในการรอ เครื่องดื่มที่ใช้บริการในร้านเน้นเป็นเครื่องดื่มเย็น (น้้ำเปล่า น้ำอัดลม ชาเย็น กาแฟเย็น) เพลงที่เปิดคลอเบาๆ ในร้านเน้นเพลงสมัยนิยมหรือเพลงลูกทุ่งฟังสบายๆ
          - ให้ความสำคัญกับการอธิบายรายละเอียดด้วยเอกสาร เช่น ข้อมูลการดูแลหลังการสัก จะมีการพิมพ์รายละเอียดสั้นๆ ลงบนบัตรนัด (ด้านหนึ่งเป็นคำอธิบายวิธีปฏิบัติตัวเองหลังสัก พลิกมาอีกด้านหนึ่งจะเป็นบัตรนัดการเติมสีในครั้งต่อไป โดยในบัตรนัดจะมีการระบุช่องทางติดต่อร้านไว้แล้วอย่างครบถ้วน)
          - หากมีการจัดโปรโมชั่นแจกของรางวัล ของที่ใช้แจกจะเป็นแนววัตถุมงคล หรือแจกล็อตเตอรี่
กลยุทธ์ออนไลน์
          - แสดงราคาค่าบริการในทุกเมนูอย่างชัดเจน และปักหมุดไว้บนสุดของหน้าแฟนเพจ
          - ทำโฆษณาทางเฟซบุ้กเมื่อมีการจัดโปรโมชั่น
          - ขอให้ลูกค้าส่งภาพรีวิวหลังทำผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง และขออนุญาตนำรีวิวนั้นไปโปรโมทลงบนเฟซบุ้กหรือแฟนเพจ โดยถ้าไปได้ก็ขอแท็กลูกค้าคนนั้นๆ ด้วย

          3. Customer Relationships : สร้างสายสัมพันธ์มัดใจลูกค้า กลยุทธ์ในข้อนี้จะต้องนำมาใช้กับลูกค้า ในเคสที่เขาได้ตัดสินใจเข้ามาใช้บริการกับเราแล้วนะคะ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่า ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการซ้ำหรือไม่ หรือลูกค้าจะบอกต่อให้หรือเปล่า  เจ้าของกิจการมีหน้าที่ต้องคิดรายละเอียดถึงความสัมพันธ์กับลูกค้าว่า กิจการเราดีหรือไม่ดีต่อลูกค้าอย่างไร หรือลูกค้ากับองค์กรมีปัญหากันอย่างไร ก็ให้ใส่สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาด้วยเพื่อจะได้วางแผนกลยุทธ์ในการบริหารความสัมพันธ์ให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป
          ตัวอย่าง ร้านเอ้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสาวโรงงานและแม่ค้าในตลาด ขืนทำแล้วลูกค้าไม่ประทับใจแล้วเอาไปบอกต่อในทางลบ ร้านเอ้เละแน่เลยค่ะ ซึ่งในทางตรงข้าม ถ้าเราให้บริการแล้วเขาถูกใจล่ะก็ วันสองวันถัดมาเป็นได้เฮโลตามมาทำกันอีกกลุ่มใหญ่ เรียกได้ว่าลูกค้าของเอ้ มีปฏิกิริยาเรื่องการบอกต่อที่ทรงอานุภาพมาก และข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ลูกค้าในกลุ่มนี้เขาเป็นคนค่อนข้างสบายๆ ไม่จุกจิก และค่อนข้างให้เกียรติเรา อย่างไรก็ดี ปัญหาอีกอย่างก็คือลูกค้ามีความพึงพอใจหลังการใช้บริการก็จริง แต่คนแถวบ้านหรือเพื่อนเขานั่นแหละที่จะมีปัญหาค่ะ เช่น ทำไปสวยและลูกค้าพอใจแล้ว แต่เมื่อลูกค้ากลับบ้านหรือไปทำงาน มักจะได้รับคำติมากว่าคำชม ซึ่งทำให้เกิดความไม่สบายใจตามมา หน้าที่ของเราก็คือต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา และทำให้เขาเชื่อเราซึ่งเป็นช่าง มากกว่าจะเชื่อคนรอบตัวเขาซึ่งไม่ได้มีความรู้ด้านนี้โดยตรงค่ะ

กลยุทธ์
          - สร้างความเข้าใจ และทำให้ลูกค้าอุ่นใจว่าเราจะไม่ละทิ้ง นั่นคือหลังจากให้บริการแล้ว จะทำการพูดคุยทันทีว่า หลังจากสักไปแล้วอาจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกผิดปกติอย่างไร และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างนี้ รวมถึงเมื่อผ่านระยะเวลาช่วงแรกไปแล้ว จะมีผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้นอย่างไร และพูดให้เขามั่นใจว่า อย่าได้กังวล หากได้รับฟีดแบกที่แตกต่างกันจากคนรอบข้าง พร้อมทั้งแจกเอกสารที่ระบุข้อมูลดังกล่าวให้ลูกค้าไปด้วย เนื่องจากพบว่าหลายๆ ครั้งลูกค้าฟังเราแล้วเข้าใจ แต่กลับบ้านไปก็ลืม
          - รักษาสิทธิ์ให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเติมสีคิ้ว/ปาก หรือการทำทรีทเมนท์ ย่อมมีช่วงเวลานัดครั้งต่อไป โดยเฉพาะการเติมสีที่ทิ้งช่วงระยะเวลาห่างกัน 1-3 เดือน เมื่อเราส่งมอบใบนัดให้ลูกค้าแล้ว เราจะโน้ตไว้ด้วยว่าลูกค้าท่านนี้มีนัดครั้งต่อไปเมื่อไหร่ และทำการโทรหรือส่งข้อความแจ้งเตือนลูกค้าก่อนจะถึงวันนัด เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ และเป็นการรักษาสิทธิ์ให้ลูกค้า ซึ่งหากวันและเวลานัดลูกค้าไม่สะดวกที่จะเข้ามาใช้บริการ ก็จะไม่มีการตัดสิทธิ์ลูกค้าออกแต่อย่างใด
          - จัดทำ "บัตรกระชับมิตร" เพื่อมอบส่วนลดแลกแจกแถมให้ลูกค้าเก่า เมื่อมาใช้บริการอื่นๆ เช่น ครั้งนี้มาสักคิ้ว แต่หากต้องการสักปาก ลูกค้าเก่ารับส่วนลด 500 บาท เป็นต้น หรือซื้อคอร์สทรีทเมนท์หน้า หากทำการต่อคอร์สถัดไปรับของสมมนาคุณเป็นกระเป๋าเครื่องสำอาง เป็นต้น

          - จัดทำโปรโมชั่นในวันพิเศษ เช่น เทศกาลวันแม่ คุณลูกทำพร้อมคุณแม่ คุณแม่จ่ายแค่ครึ่งเดียว, ช่วงเทศกาลปีใหม่ ลูกค้าจับรางวัลเป็นของขวัญพิเศษ ฯลฯ (วางแผนทุก 3 เดือน ไม่อย่างนั้นอาจจะลืม) โดยมีการจำกัดสิทธิ์เท่าที่ทางร้านจะรับได้ และพิจารณาแล้วว่าคุ้มค่า
          - มองหาตัวแทนที่มีอิทธิพลในการชักนำผู้อื่น โดยพิจารณาจากคนที่พอจะมีพาวเวอร์แล้วชักชวนให้เขาทำหน้าที่พาลูกค้าใหม่ๆ มาให้เรา ซึ่งจะมีค่าตอบแทนในการแนะนำหัวละ 300-500 บาท
          - สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจเสมอ เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความอุ่นใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาพบเจอเรา ที่ต้องระวังให้มากคือ ไม่พูดจาว่าร้ายหรือกระทบกระทั่งร้านอื่นๆ ไม่หักหน้าลูกค้าหรือพูดสิ่งใดให้กระทบความรู้สึกเมื่อเขาแสดงความคิดเห็นหรือขอคำแนะนำ ไม่ต่อว่าไปถึงบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพูดหรือกระทำอย่างไรต่อธุรกิจของเราก็ตาม หลีกเลี่ยงการปะทะทุกช่องทาง และหาทางแก้ปัญหาอย่างละมุมละม่อม


     การคิดกลยุทธ์ต่างๆ อาจไม่สามารถคิดออกมาได้ในคราวเดียว สำคัญคือต้องเริ่มทำก่อน และหากคิดอะไรแว้บเข้ามา ก็ควรเขียนโน๊ตไว้ทันที แม้ทุกกลยุทธ์ที่เราคิดขึ้นมานั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด แต่การรวบรวมความคิดไว้ให้ได้อย่างละเอียดที่สุด จะนำมาซึ่งผลดีในการได้นำปรับใช้กับธุรกิจของเราต่อไปค่ะ

     จบไปแล้ว 3 หัวข้อ เหลืออีก 6 หัวข้อ เราค่อยมาระดมความคิดกันใหม่ในบทความตอนต่อไปนะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปรับแต่งธุรกิจร้านและสถาบันสักคิ้ว ให้เติบโตก้าวไกลด้วย Business Model Canvas

          ก่อนเราจะเดินทางออกไปเที่ยว เรายังต้องวางแผนเลยว่าแต่ละช่วงเวลาของวันจะไปเที่ยวที่ไหน กินข้าวที่ไหน เดินทางอย่างไร ฯลฯ เพื่อการประหยัดเวลา สะดวก และกอบโกยความสุขจากการเดินทางได้ดังใจที่คาดหวัง การดำเนินธุรกิจก็เช่นกันค่ะ จะทำไปวันๆ แล้วแต่ชะตาอำนวยคงเป็นไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่มีทางที่จะออกมาดี ดังนั้น การวางแผนความสำเร็จให้กับธุรกิจนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก หลายคนอาจจะนึกค้านในใจว่า แหม...ธุรกิจฉันเล็กนิดเดียวเองนะ จะต้องถึงขั้นวางแผนให้มันยุ่งยากขนาดนั้นเชียวหรือ? คำตอบคือใช่ค่ะ...ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ หากต้องการให้การเดินทางบนถนนสายธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีไม่ต้องล้มลุกคลุกคลาน ก็จะต้องมีการวางแผนงานให้ครบทุกมิติ ซึ่ง Model ที่เราสร้างขึ้นมานั้นจะเปรียบเสมือนเป็นลายแทงมหาสมบัติ นำพาเราไปสู่เป้าหมายได้ง่ายกว่าการไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างนะคะ

        ทีนี้เรามาศึกษาเจ้าตัว Business Model Canvas กัน ก่อนอื่นต้องแนะนำก่อนว่า Business Model Canvas เป็นวิธีคิดที่ถูกพัฒนามาจากคุณ Alex Osterwalder ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และถูกนำไปใช้กันทั่วโลกทั้งในธุรกิจเล็กและธุรกิจใหญ่ โดยคุณสมบัติของ Business Model Canvas ก็คือ การเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เห็นทุกแง่มุมของธุรกิจนั้นๆ ทำให้มองเห็นข้อดี ข้อเสีย โอกาส อุปสรรค ฯลฯ อันจะไปนำไปสู่แนวทางในการรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และเชื่อไหมว่า หากคุณระดมความคิดใส่ลงไปในแผนผังนี้ ร้านสักคิ้วเล็กๆ ของคุณ อาจกลายเป็นยักษ์ตัวฉกาจ ที่ทำให้ธุรกิจตัวใหญ่กว่าคุณหันมามองด้วยความทึ่งก็ได้นะคะ



          เอาล่ะค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มสร้าง Business Model Canvas ของเรากันเลย (แนะนำว่าให้อ่านให้เสร็จทีละข้อแล้วค่อยกรอกลงไปในแผนผัง ก่อนที่จะเริ่มอ่านและกรอกในข้อต่อๆ ไปนะคะ เพราะอะไรที่เรานึกได้เดี๋ยวนั้นแล้วกรอกเลย จะได้ไม่ตกหล่นค่ะ) โดยโครงสร้างของ Business Model Canvas จะแบ่งการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ออกเป็น 9 กล่อง ซึ่งทั้ง 9 กล่องนี้มีความเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นให้เราลองวิเคราะห์ธุรกิจตัวเอง และกรอกข้อมูลลงไปในแต่ละช่อง ตามรายละเอียดดังไปนี้นะคะ (สำหรับท่านที่เคยเข้าอบรมกับอาจารย์เกียรติรัตน์ สามารถเปิดชีสดูประกอบไปได้เลยค่ะ)

1. Value Propositions : คุณค่าอะไรที่เราส่งมอบให้ลูกค้า เช่น หากเป็นร้านสักคิ้ว คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของประโยชน์ใช้สอยก็คือ ใบหน้าลูกค้าดูดีขึ้น ลูกค้าสามารถประหยัดเวลาการแต่งหน้าได้มากขึ้น ฯลฯ และคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าในแง่ของทางจิตใจคือ ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น หรือลูกค้ามีความเชื่อมั่นในเรื่องโชค (กรณีทำคิ้วโหงวเฮ้ง) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ร้านสักคิ้วหลายๆ ร้านในปัจจุบันไม่ได้ทำแค่งานสัก แต่ยังแยกย่อยออกเป็นบริการอื่นๆ อีก เช่น  เพ้นท์คิ้วชั่วคราว ต่อขนตา ทำเมโสหน้าใส นวดหน้า สปาผิว ลบคิ้ว ทำเล็บ งานสอนสักคิ้ว บางร้านพ่วงด้วยการขายสินค้าอีก เหล่านี้ก็ต้องลิสต์มาว่าในร้านเราทำอะไรบ้าง และส่งคุณค่าอะไรไปสู่ลูกค้าบ้างในแต่ละบริการนั้นๆ

2. Customer Segments : ลูกค้าเราเป็นใครกันแน่ ลองทำสถิติดูค่ะว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณเป็นคนในวัยใด ทำอาชีพอะไร รายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ มีรสนิยมแบบไหน เช่น ร้านเอ้อยู่ใน จ.อยุธยา เป็นร้าน Stand Alone ตั้งอยู่ริมถนน ใกล้ๆ กับตลาด ลูกค้าส่วนใหญ่ของเอ้เป็นคนวัยทำงานค่ะ ส่วนใหญ่เป็นแม่ค้าแม่ขายในละแวกนั้น และอีกกลุ่มหนึ่งคือเป็นสาวโรงงาน เพราะหลายๆ โรงงานไม่อนุญาตให้พนักงานแต่งหน้า การสักคิ้วจึงเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าจะตอบกว้างๆ ก็คือ ลูกค้าของเอ้เป็นวัยประมาณ 25-60 ปี อาชีพนักงานประจำระดับกลางๆ หรือไม่ก็แม่ค้า รายได้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 15,000-20,000 บาท รสนิยมคือเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ประหยัด ต้องการความคุ้มค่า ไม่ใส่ใจเทรนด์แฟชั่นมากนัก ถ้าให้จัดลำดับ ก็น่าจะเป็นคนกลุ่มกลางลงล่างค่ะ

3. Customer Relationships : สร้างสายสัมพันธ์มัดใจลูกค้า อย่างที่เราทราบกันดีว่าร้านสักคิ้วส่วนใหญ่ ไม่ได้มีบริการเพียงแค่ 1 หรือ 2 อย่าง แต่พูดกันง่ายๆ คือ ทุกตารางเซนติเมตรบนใบหน้าคน เราสามารถทำเงินได้หมด อย่างบางคนสักคิ้วกับเราไปแล้ว เราอาจจะพูดไปถึงว่าทำไมไม่ลองสักปากดูบ้างคะ ที่โรงงานไม่อนุญาตให้แต่งหน้าก็ทาลิปสติกไม่ได้สิ อย่างนี้ถ้ามีแต่คิ้วแล้วปากซีดๆ คล้ำๆ แบบนี้มันก็ยังสวยไม่ครบเซ็ทนะคะ ทางเรามีบัตรกำนัลนะ สักคิ้วไปแล้วมาสักปากได้ส่วนลด 500 บาท สนใจมั้ย อะไรก็ว่าไป ดังนั้นในเรื่องของการสร้างสายสัมพันธ์มัดใจลูกค้าของเอ้ก็คือ การมอบบัตรส่วนลดให้ลูกค้าเก่าเพื่อเป็นการจูงใจให้เขามาลองใช้บริการอื่นๆ ในร้าน หรือแม้กระทั่งการมอบค่าตอบแทนให้เขาเมื่อแนะนำลูกค้าคนใหม่ๆ มาให้ (ร้านเอ้แม่ค้ามาใช้บริการเยอะ การชักชวนกันมาทำจึงเกิดขึ้นเยอะมาก และการให้ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ก็ใช้ได้ผลเสียด้วย) หรือแม้กระทั่งระบบการจองคิว หากมีการจองคิวเข้ามาทำในช่วงวันสำคัญ เช่น วันแม่ วันวาเลนไทน์ วันแรงงาน ฯลฯ (เทศกาลบ้านเราเยอะจะตาย ^ ^) เราก็อาจจะเพิ่มเติมให้ลูกค้าในเรื่องของขวัญเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ

4. Channels : ช่องทางนำสินค้าหรือบริการไปให้ถึงมือลูกค้า ข้อนี้ก็มาดูกันค่ะว่า การให้บริการของเรามีลักษณะแบบไหนบ้าง เป็นร้านที่ตั้งแบบ Stand Alone, เป็นร้านในศูนย์การค้า, เป็นร้านในตลาดนัด หรือเป็นลักษณะของการบริการ Delivery ไม่มีหน้าร้าน อย่างนี้เป็นต้นนะคะ ดังนั้นหากคนที่มีร้านอยู่แล้ว ช่องทางที่ลูกค้าจะเจอเราก็จะมีทั้งคนทีสัญจรไปมาผ่านหน้าร้านและมองเห็น หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ (ผ่านสื่อไหนบ้างก็ลิสต์ลงไปให้หมดไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี Line@ หรือเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ต่างๆ) และอีกช่องทางหนึ่งที่เอ้เลือกใช้คือ ตัวแทนค่ะ (เอ้เรียกอย่างนั้นนะ) อย่างที่บอกไปว่า หากเป็นกลุ่มสาวโรงงาน เอ้ก็จะมองหาคนที่จะเป็นตัวแทนเลย คือเขาเคยมาใช้บริการและไปหาลูกค้าในโรงงานของเขาให้เราต่อ ซึ่งช่องทางนี้ก็ถือว่าเป็นฟีดแบกที่โอเคเลยสำหรับร้านเอ้ค่ะ

5. Revenue Streams : รูปแบบที่มาของรายได้ ตรงนี้จะเชื่อมโยงกับข้อ 1 นะคะ นั่นคือ มาดูว่ารายได้ของร้านเรา มาจากบริการหลักอะไรบ้าง อย่างเช่น รายได้จากการบริการงานสัก รายได้จากบริการงานทรีทเมนท์หน้าใส รายได้จากงานต่อขนตา รายได้จากงานทำเล็บ หรือรายได้จากงานสอน ลิสต์มาเลยค่ะว่ารายรับของเรามาจากทางไหนบ้าง

6. Key Partners : พันธมิตรทางธุรกิจ ข้อนี้เราก็มาวิเคราะห์ถึงบุคคลที่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ลองนั่งนึกเลยค่ะว่า ร้านเราต้องทำการเจรจาพูดคุยกับใครบ้าง เริ่มตั้งแต่เฮียที่เป็นเจ้่าของตึกที่เราเช่าอยู่ บริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ (เราซื้อเจ้าไหนบ้างก็ลิสต์ชื่อออกมาเลย) เราทำเว็บหรือโปรโมทแฟนเพจหรือเปล่า ถ้าทำเราดีลงานกับบริษัทใด หรือบางท่านที่มีบริการเดลิเวอรี่ ท่านไปทำที่ไหน ติดต่อกับใคร หรือร้านของเราได้มีการไปออกบูธที่ไหนบ้างไหม ประสานกับใคร ลองนึกๆ ดูนะคะว่าเรามีการประสานงานธุรกิจกับใครบ้าง

7. Key Activities : กิจกรรมหลัก ตรงนี้ก็เชื่อมโยงกับข้อ 1 และข้อ 5 เช่นเดียวกัน โดยให้เราทบทวนตัวเองนิดนึงค่ะว่างานหลักของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง อย่างของบางท่านอาจจะมีทั้งงานสอน งานให้บริการสักที่ร้าน งานให้บริการสักนอกสถานที่ งานให้บริการแก้คิ้วลบคิ้ว งานจัดจำหน่ายสินค้า ฯลฯ เรียกว่าในร้านเรามีอะไรบ้าง ลิสต์ไล่ลำดับตั้งแต่สำคัญที่สุดจนถึงลำดับที่สำคัญรองๆ ลงไปให้ครบเลยนะคะ

8. Key Resources : ทรัพยากรที่ต้องใช้ ในที่นี้คือครอบคลุมหมดเลยทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรข้าวของเครื่องใช้ แล้วร้านเราล่ะคะใช้อะไรบ้าง มีการกู้เงินมาลงทุนไหม มีพนักงานรึเปล่า หรือการจ้างงานอะไรกับบริษัทอื่นๆ ไหม และอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้หลักในร้านมีกลุ่มไหนบ้าง

9. Cost Structure : โครงสร้างต้นทุน จากข้อ 8 ที่เราได้กรอกข้อมูลไป คราวนี้มาถึงเรื่องการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแล้วล่ะค่ะว่าแต่ละเดือน แต่ละวันเราจับจ่ายไปกับต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างโปรโมทเว็บ ค่าอุปกรณ์ ค่าคอมมิชชั่นตัวแทน ค่าเรียนคอร์สพิเศษ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ


ปริ้นท์ใหญ่ๆ ใส่กระดาษ A3,  A4 แล้วกรอกสิ่งที่เป็นตัวตนของธุรกิจคุณลงไปได้เลย


ทีนี้ก็จบแล้วค่ะการวางแผนผัง Business Model Canvas ลองนึก ลองเขียน ลองทำดู เราอาจจะเริ่มมองเห็นอะไรๆ ที่เคยละเลยไป เริ่มมีไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ แทรกเข้ามา แต่ที่แน่นอนคือ เราจะมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร กำลังขายสินค้าหรือบริการกับใคร เราทำอย่างไร และคุ้มค่าหรือไม่ แล้วเดี๋ยวในบทความต่อๆ ไป เราจะลองกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางลงในกล่องทั้ง 9 กล่องนี้ แล้วทุกท่านจะมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจได้อีกเยอะเลยล่ะค่ะ