มาถึงโค้งสุดท้ายของการวางแผนธุรกิจด้วย Business Model Canvaz แล้วนะคะ กับ 3 หัวข้อสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ้านสักคิ้วทุกท่านจะละเลยผ่านไปไม่ได้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เราไปดูกันเลยค่ะ
7. Key Activities : กิจกรรมหลัก เป็นการลงรายละเอียดสำหรับกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในธุรกิจของเรา กล่าวง่ายๆ คือ ดูว่าเราทำงานหลักอะไรบ้าง (อะไรที่เป็นกิจกรรมเสริม อันนำไปสู่รายได้เสริม ไม่เกี่ยวนะคะ) แน่นอนว่าธุรกิจของเราย่อมประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งในแต่ละกิจกรรมจะมีการใช้เวลาและทรัพยากร มากน้อยแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงต้องมาพิจารณาว่าในแต่ละกิจกรรมนั้นๆ ใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ทรัพยากรอะไร มีขั้นตอนอย่างไร มีวิธีจะลดต้นทุนในแต่ละขั้นตอนได้อย่างไร กิจกรรมที่ว่านั้นเกิดปัญหาหรือไม่ และจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร เมื่อได้รายละเอียดแล้วเราก็มาทำการสรุปว่ากิจกรรมใดบ้างที่ทำแล้วคุ้มค่า และถ้าเราให้เกิดประโยชน์มากขึ้นไปอีกเราจะทำการส่งเสริมกิจกรรมนั้นอย่างไร หรือกิจกรรมใดที่ไม่คุ้มค่า เราควรจะทำต่อหรือไม่ ถ้าทำต่อต้องแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น
ตัวอย่าง เอ้เปิดร้านโดยทำงานเพียงคนเดียว ไม่มีพนักงาน โดยแต่เดิมร้านของเอ้มีกิจกรรมอันแบ่งเป็นหมวดหลักๆ ได้ 3 กิจกรรม ได้แก่ งานให้บริการลูกค้าเรื่องการสัก/ทำทรีทเมนท์/แว็กซ์ขน, งานให้บริการลูกค้าเรื่องการแก้คิ้ว, และงานให้บริการลูกค้าเรื่องการสอน ซึ่งต่อมาเอ้ได้พบว่า งานสอน เป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรแรงงาน (ตัวเรา) และทรัพยากรเวลา มากที่สุดในบรรดากิจกรรมทั้งหมด มองง่ายๆ คือวันไหนที่เปิดสอน เอ้จะต้องงดรับลูกค้าทั้งหมด เพื่ออุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่า ทำให้เอ้มองเห็นถึงค่าเสียโอกาสในการรับบริการลูกค้า ต่อมาเอ้จึงยกเลิกกิจกรรมการสอนไป และหันมาเน้นการทำตลาดในเรื่องของการบริการแทนค่ะ
ประเด็นต่อมา ในร้านของเคยมีบริการรับแก้คิ้ว ซึ่งบริการนี้ยากกว่าการสักคิ้วปกติมาก เพราะแต่ละเคสที่เข้ามาใช้บริการมีปัญหาเดิมที่แตกต่างกัน ดังนั้นทำให้เราใช้ทรัพยากรในแต่ละเคสแตกต่างกันด้วย เช่น ลูกค้าบางท่านอาจจะใช้เวลาในการแก้คิ้วเพียงครั้งเดียว ลูกค้าบางท่านต้องแก้ถึง 3-4 ครั้ง และเราเองไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดกับลูกค้าได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ อีกประการหนึ่งก็คือ ลูกค้ามักมีความกังวลเพราะกลัวว่ายิ่งแก้จะยิ่งเพิ่มปัญหา ทั้งยังจะเสียเงินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด กิจกรรมนี้จึงทำให้เอ้ใช้ทั้งทรัพยากรแรงงาน ทรัพยากรเวลา และทรัพยากรความคิด (เอ้เป็นคนคิดมาก) เรียกว่าแก้คิ้วทีก็จิตตก เพราะกังวลว่าจะทำให้ปัญหาของลูกค้าหมดไปไม่ได้ เมื่อมองถึงความความคุ้มค่า เอ้จึงมองว่างานแก้คิ้วไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากพอ จึงได้ทำการยกเลิกกิจกรรมการแก้คิ้วไป และหันมาเน้นการทำตลาดในเรื่องของบริการแทนเช่นเดียวกัน
สรุป เมื่อเอ้ได้ทำการยกเลิกกิจกรรมการสอนและกิจกรรมการรับแก้คิ้วไป ทำให้รายได้ส่วนที่เอ้ควรจะได้จากทั้ง 2 กิจกรรมนี้ขาดหายไป อย่างไรก็ตามเมื่อเอ้เลือกแล้วว่าจะเน้นกิจกรรมหลักเพียงแค่การให้บริการเท่านั้น เอ้จึงเพิ่มกิจกรรมใหม่เข้ามาเพื่อส่งเสริมกัน ได้แก่ กิจกรรมการทำตลาด โดยเอ้ใช้เวลาศึกษาเรื่องการทำตลาดมากขึ้น ทั้งการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และงานสัมมนา จากนั้นนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้กิจกรรมหลักที่เหลือเพียงกิจกรรมเดียวของเอ้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น และนำมาสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เอ้ยังมีแผนที่จะเพิ่มกิจกรรมหลักขึ้นมาอีก โดยการดึงกิจกรรมที่เคยพับไป อย่างงานสอน หรืองานแก้คิ้ว กลับมาทำใหม่ แต่เอ้จำเป็นจะต้องเพิ่มทรัพยกรแรงงานเข้ามาอีก โดยการจ้างช่างสักคิ้วเพิ่ม 1-2 คน เพื่อรองรับกับกิจกรรมบริการที่มีอยู่เดิม ส่วนตัวเอ้เองก็จะไปทำกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมานั่นคืองานสอน และงานแก้คิ้ว เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับธุรกิจ โดยพิจารณาแล้วว่าการแรงงานเพิ่มขึ้นมารองรับกิจกรรมหลักที่จะทำ มีความคุ้มค่ากว่าค่ะ
8. Key Resources : ทรัพยากรที่ต้องใช้ ทรัพยากรเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการทำธุรกิจ โดยทรัพยากรที่ว่านี้ จะหมายรวมถึง ข้าวของเครื่องใช้ เงินทุน แรงงาน ฯลฯ หลักการง่ายๆ ที่เราใช้จำแนกสิ่งที่ควรเขียนลงไป คือ มีอะไรบ้างในธุรกิจของเราที่จำเป็นต้องมีอยู่ ทรัพยากรใดยังคงไว้แต่ต้องได้รับการพัฒนา และทรัพยากรใดไม่จำเป็น และควรตัดออกไป
ตัวอย่าง อย่างที่บอกไปในข้อ 7 ค่ะ แต่เดิมร้านเอ้มีงานรับสอนด้วย จึงมีทรัพยากรเครื่องใช้เป็นโต๊ะ เก้าอี้ กระดานไวท์บอร์ด และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานสอน เมื่อเอ้ตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมการสอนไป จึงยกเลิกการใช้ทรัพยากรดังกล่าวไปด้วย และเปลี่ยนจากตรงนั้นมาเพิ่มเป็นโซฟาชุดรับแขกสำหรับลูกค้าแทน และเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งก็คือโทรทัศน์และสัญญานไวไฟ เพื่อเสริมความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่มานั่งรอ ซึ่งการปรับเปลี่ยนทรัพยากรดังที่กล่าวไปนั้นกลับยิ่งทำให้ร้านดูน่านั่ง น่าเข้ามาใช้บริการมากกว่าเดิมค่ะ
อีกเรื่องหนึ่งในการปรับเปลี่ยนคือ ร้านเอ้มีบริการแบบเดลิเวอรี่ด้วย โดยแรกเริ่มนั้น เอ้ใช้เก้าอี้นอนในลักษณะของเก้าอี้ชายหาดไปให้บริการลูกค้า ต่อมาเอ้อยากปรับให้ร้านเราดูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เอ้จึงเปลี่ยนจากเก้าอี้ชายหาด มาเป็นเตียงพับ (ลักษณะเหมือนเตียงนอนทำสปา) และแม้ว่าการปรับเปลี่ยนทรัพยากรนี้จะทำให้เอ้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่เอ้ก็แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มราคาค่าบริการขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งเมื่อลูกค้าได้เห็นความเป็นมืออาชีพตั้งแต่เตียงที่เราใช้ จึงไม่มีปัญหาในข้อสงสัยเรื่องราคาที่เพิ่มขึ้นค่ะ
อีกข้อหนึ่งที่เอ้เห็นว่าสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือก่อนหน้าที่เอ้จะมาจริงจังเรื่องการทำตลาด เอ้โปรโมทธุรกิจด้วยการจ้างคนอื่นทำทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบดีไซน์แฟนเพจ การดีไซน์โบชัวร์ ป้ายร้าน การทำโฆษณาในเฟซบุ๊ก (การจ้างให้คนอื่นดูแลให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก) ซึ่งเมื่อรวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการจ้างงานเหล่านี้ใช้ทรัพยากรเงินทุนที่สูงมาก และยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเราได้มากเท่าที่ควร เอ้จึงใช้เวลาพักใหญ่ในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์ (ศึกษาโปรแกรมโฟโต้ช็อป) การโฆษณาสื่อออนไลน์ต่างๆ จนกระทั่งสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง และทำให้พบว่าเมื่อเราทำงานพวกนี้ด้วยตัวเองได้ นอกจากจะดีไซน์งานทุกอย่างได้สวยถูกใจแล้ว ยังประหยัดทรัพยากรเงินทุนมากๆ แม้จะเสียเวลาในแต่ละวันลงไปบ้าง แต่มองถึงความคุ้มค่าแล้วทำเองคุ้มกว่า จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดทรัพยากรเงินทุนและเพิ่มทรัพยากรแรงงาน (ตัวเอง) เข้ามาใช้ในธุรกิจค่ะ
9. Cost Structure : โครงสร้างต้นทุน เป็นบทสรุปของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นว่า มีจำนวนประมาณเท่าใด จุดใดเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือน้อยอย่างไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะสามารถคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ณ จุดใด ซึ่งกล่องที่ 9 โครงสร้างค่าใช้จ่าย และกล่องที่ 5 กระแสรายได้ จะบ่งบอกถึง สถานะทางการเงินของธุรกิจ ทั้งนี้สามารถจำแนกลักษณะของต้นทุนได้ 2 รูปแบบคือ
ทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ค่าจ้างแรงงาน (อย่าลืมเงินเดือนตัวเองด้วยนะคะ) ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ ค่าเช่า ค่าน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ
ทุนเพื่อเพิ่มคุณค่าธุรกิจ เช่น ค่าโฆษณา ค่าเรียนเพิ่มเติมในวิชาชีพ ค่าจ้างฝ่ายออกแบบ ฯลฯ
ตัวอย่าง เอ้มีค่าใช้จ่ายคงที่แน่ๆ ในแต่ละเดือนครอบคลุม เรื่องของค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน (เงินเดือนตัวเอง) ค่าน้ำมัน ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ฯลฯ รวมแล้วอยู่ประมาณ 30,000 บาท ดังนั้นหากเอ้ต้องการกำไรโดยเฉลี่ยที่เดือนละ 20,000 เอ้ก็ต้องหารายได้เข้าร้านให้ถึง 50,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์กับกล่องที่ 5 โดยตรง นั่นคือ Revenue Streams : รูปแบบที่มาของรายได้ กล่าวคือ ถ้าเดือนไหนได้ไม่ถึงเป้า เอ้ก็จะมาดูข้อนี้แหละค่ะ ว่าเราทำยังไง ทำไมรูปแบบที่มาของรายได้ที่เราตั้งไว้ จึงไม่สามารถตั้งให้ถึงได้ตามเป้า เราก็จะมาปรับแก้ไขในจุดนี้ เช่น เราอาจต้องทำโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า หรือมองหาพันธมิตรเพิ่มเติมในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นมา เป็นต้น
ในทางกลับกัน หากเอ้สามารถสร้างรายได้จนถึงเป้า และพอเหลือกำไรที่จะนำไปเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจได้ เอ้จะนำกำไรที่ได้เหล่านั้นไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น เรียนเทคนิคใหม่ๆ เพิ่ม (ก็กลับเข้ามาสู่กล่องที่ 5 อีกนั่นแหละค่ะ คือนำความรู้ใหม่ที่ได้มานั้นมาสร้างรายได้เพิ่มเข้าร้าน) ตรงนี้เทคนิคเอ้คือว่ากันเดือนต่อเดือน เช่นเดือนนี้กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายคงที่เหลือ 25,000 และเอ้ตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละเดือนต้องการกำไร 20,000 บาท ดังนั้นเอ้จึงมีส่วนต่างที่สามารถนำไปใช้ได้ 5,000 บาท เอ้ก็เอา 5,000 นี้นี่แหละค่ะไปทำเป็นทุนเพิ่มคุณค่าธุรกิจ หากไม่พอก็ต้องรอส่วนต่างของเดือนถัดไป เป็นเทคนิคที่ทำให้เอ้ยังคงมีกำไรตามเป้า และสามารถขยายไปลงทุนเพื่อคุณค่าธุรกิจโดยไม่ต้องใช้เงินทุนเก่าหรือกู้ยืมใครค่ะ
เอาล่ะค่ะ จบลงแล้วนะคะสำหรับการกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วย Business Model Canvaz จากตัวอย่างที่เอ้ยกให้ดูนั้น เอ้แจ้งแล้วว่าเป็นเพียงไอเดียของเอ้เองเท่านั้น ส่วนท่านอ่านแล้วคิดเห็นว่าควรทำอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ท่านพบเจอเลยค่ะ ไม่มีใครผิดหรือถูก เพียงแต่โมเดลนี้จะทำให้เรามองเห็นองค์ประกอบในธุรกิจ อันนำไปสู่มุมมองและความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์อย่างมีระบบมากขึ้น อย่างน้อยจะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ต่อการปรับแต่งธุรกิจให้โดดเด่น และเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเอง ร้านสักคิ้วของเราจะได้มีสิ่งดึงดูดแปลกๆ ใหม่ๆ ต่างจากร้านอื่นๆ ค่ะ